รถไฟสายจีน-ลาว 1

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กำลังจะเปิดใช้งานขบวน รถไฟสายจีน-ลาว ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างกรุงเวียงจันทน์ของลาวกับนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในวันที่ 3 ธ.ค. นี้ หลังวันชาติลาว 1 วัน หลังใช้เวลาก่อสร้างนานเกือบ 5 ปี

1.รถไฟสายจีน-ลาว โครงการมูลค่า 1.99 แสนล้านบาท

โครงการรถไฟสายจีน-ลาว มีมูลค่า 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.99 แสนล้านบาท) จีนรับผิดชอบภาระทางการเงิน 70% ของมูลค่าโครงการ ส่วนที่เหลือลาวรับผิดชอบ โดยลาวเริ่มการก่อสร้างเมื่อปี 2016 ท่ามกลางความวิตกว่า โครงการที่มีมูลค่าการลงทุน ราว 1/3 ของขนาดเศรษฐกิจของประเทศ จะทำให้ลาวติดกับดักหนี้สิน เพราะ 60% ของเงินลงทุนหรือประมาณ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.18 แสนล้านบาท) นั้น เป็นเงินกู้จากธนาคารส่งออกนำเข้า (เอ็กซิมแบงก์) ของจีน ซึ่งลาวก็ต้องรับภาระหนี้สินตามสัดส่วนเป็นเงินถึง 1,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.57 หมื่นล้านบาท) ส่วนจีนรับภาระที่ 2,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.36 หมื่นล้านบาท)

ส่วนที่เหลือ 40 % เป็นหุ้น โดยฝ่ายลาวมีภาระจะต้องใส่เงินเข้าไปตามสัดส่วนหุ้นของตัวเอง มูลค่า 730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.46 หมื่นล้านบาท) ในจำนวนนั้น 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8,430 ล้านบาท) เป็นเงินงบประมาณของรัฐบาลลาวและที่เหลือ 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.62 หมื่นล้านบาท) ก็ต้องกู้จากธนาคารของจีนอีกเช่นกัน ส่วนจีนต้องใส่เงินเข้าไป 1,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท)

รวมแล้วประเทศลาวมีภาระหนี้สิน 1,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.19 หมื่นล้านบาท) ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเปรียบกับผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ ของลาว 19,136 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.45 แสนล้านบาท) ตามการรายงานของธนาคารโลกปี 2020

สุขนิรัน เขียวล่า นักวิจัยชาวลาวจากสถาบันเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO กล่าวในงานเสวนาที่จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (The Foreign Correspondents’ Club of Thailand) เมื่อ 2 ธ.ค. ถึงเรื่องการลงทุนของรัฐบาลจีนกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงในลาว ว่า ลาวกำลังตกที่นั่งลำบากเรื่องการเงิน เพราะนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้กล่าวในที่ประชุมเมื่อเข้ารับตำแหน่งใหม่ ๆ ว่าลาวกำลังประสบ 2 ปัญหาใหญ่คือ งบประมาณและยาเสพติด และเขาได้กล่าวว่าภายในปี 2565 เขาจะหาทางแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณให้ได้

“เรื่องที่น่าสนใจก็คือลาวอาจไม่จำเป็นต้องใช้หนี้ในรูปแบบของตัวเงินให้กับจีน เพราะลาวยังอุดมไปด้วยสินแร่ชนิดต่าง ๆ อยู่อย่างมากมาย และจีนก็อาจจะนำทรัพยากรนี้ไปใช้แลกกับตัวเงินกู้หากลาวตกอยู่ในจุดที่ไม่สามารถคืนเงินให้จีนได้จริง ๆ เพราะสินแร่เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ลาวนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับการลงทุนในโครงการนี้” สุขนิรันกล่าว

ส่วน ดร.พรชนก สุวรรณแสง ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเบนท์ลีย์ (Bentley University) สหรัฐฯ กล่าวในเวทีเดียวกันว่า รัฐบาลลาวจะไม่ตกไปอยู่ในจุดที่เศรษฐกิจล้มเหลวจากการเป็นหนี้รัฐบาลจีน แต่รัฐบาลลาวก็ตกอยู่ในจุดที่ลำบากเช่นกัน เพราะเงินลงทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จีนให้มาเป็นรูปแบบของการให้เงินกู้ และเป็นยอดเงินกู้ที่สูงที่สุดเท่าที่จีนเคยให้ประเทศใดกู้ในโครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative)

  1. รถไฟสายจีน-ลาว เส้นทางยาวกว่า 1,035 กิโลเมตร

ทางรถไฟนี้มีขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร โกลบอลไทมส์ สื่อของทางการจีนรายงานว่ามีระยะทางรวม 1,035 กม. ในจำนวนนี้เป็นระยะทางในลาว 414 กิโลเมตร

เว็บไซต์ซินหัวเน็ต ระบุว่า มีอุโมงค์ตามทางรถไฟสายนี้ทั้งสิ้น 167 แห่งรวมระยะทางกว่า 590 กม. คิดเป็น 63% ของระยะทางทั้งหมด

ข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุว่า ในส่วนเส้นทางที่อยู่ในประเทศลาวนั้นต้องผ่านอุโมงค์ 75 แห่ง คิดเป็นระยะทาง 198 กม. และสะพาน 167 แห่ง คิดเป็นระยะทาง 61 กม.

เส้นทางสายนี้ผ่านเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวหลายแห่ง ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า สถานีรถไฟของฝั่ง สปป.ลาว ช่วงแรกมี 11 สถานี เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร 10 สถานี ได้แก่ กรุงเวียงจันทน์ โพนโฮง วังเวียง กาสี หลวงพระบาง เมืองงา เมืองไซ นาหม้อ นาเตย และบ่อเต็น และเป็นสถานีขนส่งสินค้า 1 สถานี คือ สถานีเวียงจันทน์ใต้ ส่วนสถานีรถไฟฝั่งจีน มี 14 สถานี ได้แก่ โม่ฮาน เหมิ่งล่า ก๋านหล่านป้า สิบสองปันนา เหมืองหย่าง ผูเอ่อร์ หนิงเอ่อร์ โม่เจียง หยวนเจียง หลัวหลี่เอ๋อซาน เหยียนเหอ อวี้ซีตะวันตก และนครคุนหมิง

ด้านซีเอ็นเอ็น ระบุว่า เครือข่ายรถไฟสายนี้จะเชื่อมต่อสถานีทั้งหมด 45 สถานีในทั้ง 2 ประเทศ โดยในจำนวนนี้จะเป็นสถานีที่ให้บริการรับส่งผู้โดยสารประมาณ 20 สถานี

3.ใช้ความเร็วในการขนส่งผู้โดยสาร 160-200 กม.ต่อชั่วโมง คาดว่าใช้เวลาเดินทางราว 10 ชั่วโมง

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ขบวนรถไฟนี้มีน้ำหนัก 3,000 ตันและขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า ระบบรางของรถไฟสายนี้ถูกออกแบบให้สามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงที่ใช้ความเร็วได้มากกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในส่วนของลาวจะวิ่งด้วยอัตราเร็ว 160-200 กม.ต่อชั่วโมง ในขบวนที่ใช้ขนส่งผู้โดยสาร แต่หากเป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจะจำกัดความเร็วที่ไม่เกิน 120 กม.ต่อชั่วโมง

เว็บไซต์แทรเวิลไชน่าไกด์ ซึ่งปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ มิ.ย. 2021 ระบุว่า คาดว่าใช้เวลาเดินทางระหว่างนครคุนหมิงและกรุงเวียงจันทน์ราว 10 ชั่วโมง โดยในส่วนของทางรถไฟที่อยู่ในจีนซึ่งให้บริการระหว่างนครคุนหมิงและเมืองโม่หาน ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ทางรถไฟคุนหมิง-อวี้ซี ระยะทาง 88 กม. วิ่งด้วยอัตราเร็ว 200 กม.ต่อชั่วโมง และทางรถไฟอวี้ซี-โม่หาน ระยะทาง 507 กม. มีแผนจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 160 กม.ต่อชั่วโมง

รถไฟสายจีน-ลาว 2

4.ค่าโดยสารเวียงจันทน์-บ่อเต็น 238,000-529,000 กีบ (ราว 680-1,510 บาท)

ผู้จัดการออนไลน์อ้างสื่อของทางการลาวที่เผยแพร่อัตราค่าโดยสารรถไฟลาว-จีน ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการในวันศุกร์ที่ 3 ธ.ค. นี้ โดยอ้างอิงจากหนังสือแจ้งการของกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เลขที่ 24016/ยทข.หก. ลงวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกรมทางรถไฟ และประกาศใช้ค่าโดยสารนี้เป็นการชั่วคราวในระยะแรกที่เริ่มให้บริการ

หากเดินทางจากกรุงเวียงจันทน์ไปยังเมืองบ่อเต็นซึ่งติดกับชายแดนจีน ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ค่าตั๋วรถไฟสำหรับตู้โดยสารชั้น 1 มีราคา คนละ 294 หยวน หรือ 529,000 กีบ หรือ 1,510 บาท ตู้โดยสารชั้น 2 คนละ 185 หยวน หรือ 333,000 กีบ หรือ 950 บาท และค่าโดยสารรถไฟความเร็วธรรมดา คนละ 132 หยวน หรือ 238,000 กีบ หรือ 680 บาท (อัตราค่าโดยสารที่ยกตัวอย่างมาอิงตามอัตราแลกเปลี่ยนตามราคาตลาดในลาวที่ 1,800 กีบต่อ 1 หยวน และ 350 กีบต่อ 1 บาท)

ส่วนค่าขนส่งสินค้าของขบวนรถไฟลาว-จีน คิดในอัตรา 0.6 หยวนต่อสินค้า 1 ตันต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร

ขณะที่ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับค่าโดยสารในส่วนของประเทศจีน

ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ในการเปิดให้บริการวันที่ 3 ธันวาคมนี้ ขบวนรถขนส่งสินค้าจะให้บริการวันละ 2 เที่ยว จากสถานีสินค้าเวียงจันทน์ใต้ ข้ามชายแดนไปจนถึงสถานีคุนหมิง ส่วนขบวนรถโดยสารจะให้บริการเบื้องต้นเฉพาะภายเส้นทางในประเทศ ระหว่างสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ถึงสถานีบ่อเต็นก่อนเท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงระบาดของโควิด-19 โดยมีขบวนรถให้บริการวันละ 2 เที่ยว

เว็บไซต์ลาวเชียนไทมส์รายงานว่า จากประกาศของทางกระทรวง ผู้โดยสารจะต้องพกบัตรประจำตัวที่มีรูปถ่ายและมีใบรับรองการฉีดวัคซีนที่ออกภายในเวลา 72 ชั่วโมงก่อนเวลาขึ้นรถไฟ และควรจะเดินทางไปถึงสถานีก่อนออกเดินทาง 1 ชั่วโมง หลังจากเช็กอินแล้ว ผู้โดยสารต้องนั่งรอที่บริเวณรอขึ้นรถไฟ และจะมีการตรวจตั๋วโดยสารก่อนเวลารถไฟออก 20 นาที สามารถซื้อตั๋วรถไฟได้ 3 วันก่อนวันออกเดินทาง

5.ผลประโยชน์ของ จีน ลาว และไทย

ตฤณ ไอยะรา ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง รถไฟจีน กล่าวในการเสวนาหัวข้อ เศรษฐกิจการเมืองเรื่องรถไฟจีนในภูมิภาคเมื่อ 3 ก.ค.ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงของจีนนั้นถือว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาทั้งของจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ จีนต้องการขยายอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคนี้ พร้อม ๆ กับการขยายตลาดรองรับสินค้าอุตสาหกรรมของจีน กระจายความเจริญให้เข้าสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเองและเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือสร้างให้จีนเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลก ส่วนประเทศในภูมิภาคนี้ก็ได้ประโยชน์ด้วย คือ ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมต่อกับโลกภายนอก พัฒนาเมืองสองข้างทางและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองชายแดนและได้กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

ส่วน เกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นว่า จีนใช้ประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 2 ลักษณะ คือ

ใช้โครงข่ายคมนาคมอย่างรถไฟเพื่อการเชื่อมโยงและเข้าถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปรียบเสมือนหลังบ้านของจีน

ใช้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่อยู่ในประเทศในภูมิภาคเป็นเสมือนปุ่ม (node) ควบคุมการผลิต ห่วงโซ่อุปทานและการบริโภค

รายงานการศึกษาของธนาคารโลกนี้ชี้ว่ารถไฟจีน-ลาวโดยตัวของมันเองอาจจะไม่ตอบโจทย์ของการพัฒนาทั้งหมด เพราะคาดว่าจำนวนผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการรถไฟในช่วงบ่อเต็น-เวียงจันทน์จะมีเพียง 480,000 คนในปี 2025 และเพิ่มเป็น 1.1 ล้านในปี 2030 ซึ่งนับว่าไม่มากนัก ดังนั้นรถไฟจึงมีหน้าที่หลักในเรื่องการขนส่งสินค้า เพราะการขนส่งทางรางจะทำให้ ต้นทุนค่าขนส่งลดต่ำลง ถ้าหากเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงกันได้ทั่วภูมิภาคจากจีนถึงสิงคโปร์ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการขนส่งสินค้าทั้งสินค้าข้ามแดน ผ่านแดน และ ภายในประเทศ จะเพิ่มขึ้นถึง 2.4 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 เฉพาะแต่ในส่วนของลาว-จีนนั้น คาดว่ารถไฟสายนี้จะขนส่งสินค้าได้ 1.7 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จากการขนส่งเต็มที่ ลาว จึงสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านการผลิตและบริการ

รายงานของธนาคารโลกแนะนำว่า รัฐบาลลาวควรออกแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะตั้งอยู่ในแนวเส้นทางรถไฟให้เหมาะสม เช่น ควรตั้งอยู่ใกล้กับจุดขนส่งหรือกระจายสินค้า มีแรงงานเพียงพอ กฎระเบียบต่าง ๆ ควรทำให้ง่าย ไม่ซับซ้อนและโปร่งใส

ด้านนางสิรีธร จารุธัญลักษณ์ และนางสาวอภิชญา จึงตระกูล ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เขียนบทความเรื่อง “รถไฟจีน-ลาว โอกาสและความท้าทาย ที่ไทยต้องเตรียมพร้อม” ระบุว่า “รถไฟจีน-ลาวจะสามารถลำเลียงทั้งสินค้าและคนจากจีนตอนใต้ผ่านลาวมาถึงไทยได้อีกเส้นทางหนึ่ง โดยทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาที่เมืองบ่อเต็น สปป. ลาว และมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดหนองคายเพียงแค่ 24 กิโลเมตร ทั้งนี้ หากไทยเตรียมพร้อมรับมือให้ดีรถไฟจีน-ลาวนี้จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน”

โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. ระบุด้วยว่า รถไฟจีน-ลาวจะช่วยส่งเสริมทางการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ทั้งค่าโดยสารและระยะเวลา จากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มาถึงจังหวัดหนองคายใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง เร็วกว่าทางถนนจากนครคุนหมิง ถึงจังหวัดเชียงรายที่ใช้เวลาถึง 2 วัน และจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร คำนวณโดย ธปท. พบว่าจะมีต้นทุนถูกกว่าการขนส่งทางถนนถึง 2 เท่า ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนมากขึ้น คนจีนจะเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยและลาวเพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าจีนจะมาแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดลาวมากขึ้นด้วย

หากไทยมีการเตรียมพร้อมในการรับมือ เราจะเห็นโอกาสสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่

(1) การค้า ไทยจะส่งออกสินค้าไปลาวและจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงผลไม้สดและแปรรูป เพราะสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง และจีนมีกำลังซื้อมหาศาล เฉพาะมณฑลยูนนานมีจำนวนประชากรราว 50 ล้านคน เกือบเท่ากับคนไทยทั้งประเทศ

(2) การบริการและการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวจีนและลาวจะมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ 3 กลุ่มใหญ่ของไทย คือกลุ่มบริการสุขภาพ กลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารและโรงแรม และกลุ่มสถานศึกษาและโรงเรียนสอนภาษา

(3) การลงทุนในต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องทำธุรกิจแข่งกับจีนจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์เน้นจุดขายที่การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ

ด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายฉันทานนท์ วรรณเขจร โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงเมื่อปลายเดือน พ.ย. ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความพร้อมและสามารถรองรับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการในการส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตรได้ทันที หากรัฐบาลจีนและ สปป.ลาวเปิดให้ใช้เส้นทางรถไฟลาว-จีนอย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าสินค้าเกษตรที่จะขนส่งด้วยเส้นทางรถไฟลาว-จีนมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสินค้าผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา สินค้าปศุสัตว์ และข้าว

สุขนิรันแห่ง JETRO อธิบายเสริมว่าเขาได้ทำการจำลองผ่านระบบคอมพิวเตอร์ดูเรื่องของผลประโยชน์ที่โครงการนี้จะนำมาให้ และได้ข้อสรุปออกมาว่า ลาวจะได้ประโยชน์จากรถไฟโดยสารที่นำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากกว่า ส่วนจีนและไทยจะได้ประโยชน์จากรถไฟขนส่งสินค้ามากกว่า


ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
พันธุศาสตร์ สายพันธุ์และการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
โรคภูมิแพ้ สาเหตุเกิดจากอะไร
เปิดเทอม ต้อง Checklist อะไรบ้าง
ภาวะท้องผูกเกิดจากอะไร และควรปฏิบัติอย่างไร
ติดตามข่าวอื่นๆได้ที่ https://www.droatis.com/
สนับสนุนโดย  ufabet369
ที่มา www.bbc.com